สาวดอกคำใต้กับเด็กชาวเขา

 

มุกดา อินต๊ะสาร

     

ดิฉันเป็นสาวดอกคำใต้  อำเภอที่เคยมีชื่อเสียงด้านการขายบริการทางเพศ  ตอนเรียนมัธยม ดิฉันได้รับการดูถูกเหยียดหยามจากเพื่อน ๆ  จากผู้ปกครองเด็กและครูบางคน ซึ่งปรามาสว่า น้ำหน้าอย่างดิฉันนะหรือจะเอาดีทางการเรียนได้  อีกซักหน่อยก็คงเลิกเรียนไปทำงานอย่างว่าเหมือนสาวดอกคำใต้คนอื่น ๆ

                ดิฉันรู้สึกเจ็บปวด แต่ในเวลาเดียวกันก็เกิดพลังฮึดสู้ อยากพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า ในเมื่อดิฉันมีโอกาสดีกว่าเด็กสาวดอกคำใต้จำนวนมาก ดิฉันจะใช้โอกาสนี้เพื่อเรียนสูง ๆ ให้สำเร็จ แล้วออกไปช่วยเหลือเด็กอีกจำนวนมาก ซึ่งไม่มีโอกาสดีอย่างดิฉัน

                ดิฉันอยากเชื่อว่า การที่เด็กสาวหลายคนจากหมู่บ้านไม่ว่าจะจากจังหวัดไหน ภาคไหนของประเทศไทย ไปขายบริการ ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่รักดีหรือเกิดมาเลว  หากเป็นเพราะพวกเขาไม่มีโอกาสเลือกอะไรที่ดีกว่านั้น  พวกเขาด้อยโอกาส โอกาสที่สังคมไม่ได้ให้ตามสิทธิที่พวกเขาควรได้รับ  โอกาสทางการศึกษา  โอกาสทางเศรษฐกิจ

                พวกเขาขาดข้อมูลข่าวสารความรู้  ตามไม่ทันโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนี้  กลายเป็นเหยื่อของคนที่มีเงินมากกว่า มีความรู้มากกว่า มีข้อมูลมากกว่า  มีอำนาจมากกว่า  พวกนี้ไปสืบเสาะค้นหาพวกเขาถึงในหมู่บ้าน ถึงบนดอย ฉุดกระชากลากดึงพวกเขาลงมาเป็นแรงงานถูก ๆ  มอมเมาให้หลงใหลในแสงสีเสียงของเมืองใหญ่

                แล้วจึงบดขยี้ให้แหลกเหลวไปคามือ  เด็กสาวจำนวนมากกลับไปบ้านเกิดในหมู่บ้าน  บนดอย  กลับไปตายรัง ตายเพราะโรคเอดส์  ตายเพราะยาเสพย์ติด ตายเพราะไม่อยากมีชีวิตอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี ไร้ความหมายในโลกที่ไร้ความเป็นธรรมเช่นนี้

                ดิฉันเรียนจบปริญญาตรี แล้วไปเป็นครูครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๕ ที่ภูซาง อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ไม่นานก็ได้ย้ายกลับไปอยู่ที่ดอกคำใต้ บ้านเกิด

                ตั้งแต่อยู่ที่ภูซาง ดิฉันได้รู้จักเด็กชาวเขาในฐานะครูแนะแนว ได้รับรู้ปัญหาของพวกเขา หลายคนเป็นเด็กซึมเศร้า  ดิฉันได้ตามไปดูถึงหมู่บ้านของพวกเขาบนดอย  ได้พบเห็นปัญหาของหมู่บ้านชาวเขา ซึ่งกำลังถูกรุกรานจากภายนอกอย่างหนัก  ถูกรุกรานจากยาเสพย์ติด  จากระบบทุนนิยมซึ่งมอมเมาชาวบ้านด้วย “เงิน” ทำให้ชาวบ้านอยากได้เงินมากกว่าสิ่งอื่นใด และไม่ว่าวิธีใด ๆ สอนพวกเขาว่า ถ้ามีเงินแล้ว พวกเขาจะมีความสุข อยากได้อะไรก็ได้ทั้งนั้น

                สั่งและสอนพวกเขาให้ตัดไม้ทำลายป่า  เอาไม้ไปขายให้นายทุน  ให้ปลูกกะหล่ำปีแบบรวยลัด  คือ ให้ใช้สารเคมีมาก ๆ  โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค

                หมู่บ้านชาวเขาซึ่งเคยเป็นเหมือนดินแดนแสนโรแมนติก ตั้งอยู่บนยอดดอย อากาศหนาวเย็น  ผู้คนเป็นมิตร ชีวิตเรียบง่าย  ได้ค่อย ๆ  เปลี่ยนไป  หมู่บ้านหลายแห่ง  จากสวรรค์กลายเป็นนรก  ผู้ใหญ่ติดฝิ่น  ลูกชายติดเฮ  ลูกสาวไปขายบริการ ต่อมาก็ติดเอดส์ทั้งลูกชายลูกสาว  พ่อนอนสูบฝิ่น ไล่แม่กับลูกตัวเล็ก ๆ  ไปขอทานในเมืองใหญ่   ไปไกลถึงกรุงเทพฯ ก็ได้ หาดใหญ่ก็ดีถ้าไปได้  ขอเพียงให้ได้เงินมาเยอะ ๆ  เพื่อเอาไปซื้อฝิ่น ซื้อเฮโรอิน

                นั่นอาจจะฟังดูเกินความจริง  แต่วันนี้หาหมู่บ้านเช่นนี้ได้ไม่ยาก  อาจจะไม่มากนักที่เลวร้ายอย่างที่ว่านี้  แต่ก็มีจริง

                หมู่บ้านหลายแห่งอาจจะยังดูดี  แต่ที่เป็นดังสวรรค์เหมือนเมื่อก่อนไม่มีอีกแล้ว

                ดิฉันไม่อยากเห็นเด็กจำนวนไม่น้อยต้องเติบโตแบบไร้โอกาส และอยู่ในบรรยากาศที่เสี่ยง  อยากให้โอกาสพวกเขาได้พัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งไม่ได้น้อยไปกว่าเด็กพื้นราบอื่น ๆ  หรือแม้แต่เด็กในเมือง

                แรก ๆ ก็มากันเพียงสองสามคน  มาพักอาศัยกับดิฉันที่บ้านเพื่อมาเรียนชั้นมัธยม จนเมื่อดิฉันได้ที่นาจากแม่จำนวนหนึ่ง จึงมีที่ทางกว้างขวางมากขึ้นที่จะรับเด็กจากดอย

                วันนี้จึงมีเด็กอยู่ ๔๑ คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่าเย้า ซึ่งอยู่ในอำเภอดอกคำใต้และใกล้เคียง อายุตั้งแต่ ๗–๑๘ ปี เรียนป. ๑ ถึงม.   เด็กเหล่านี้เป็นเด็กยากจน ไม่มีเงิน ไม่มีทุนเรียน แต่อยากเรียน  ที่บ้านไม่มีโรงเรียนมัธยม  ส่วนเด็กเล็กที่เอามาอยู่ด้วยเพราะโรงเรียนประถมใกล้บ้านก็มี แต่อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง ต้องเดินไกลมาก

                เด็กที่นี่มีทั้งชายและหญิง  พวกเขามาอยู่ที่นี่เหมือนครอบครัวเดียวกัน เป็นพี่เป็นน้องกัน เรียนรู้จักเคารพตนเอง  ภูมิใจในตัวเอง และเคารพผู้อื่น  ผู้ชายก็ให้เคารพผู้หญิง ให้เกียรติผู้หญิง ทั้งชายทั้งหญิงมีความเชื่อมั่นในตัวเอง  ถ้าพวกเขามีความเชื่อมั่นในตัวเอง อะไร ๆ ก็สามารถทำได้ไม่ยาก เพราะทุกคนมีศักยภาพด้วยกันทั้งนั้น  อยู่ที่โอกาส อยู่ที่การใช้โอกาสอย่างมีประสิทธิภาพ

                อยากให้พวกเขาเรียนรู้ว่าจะจัดการกับชีวิตของตนเองอย่างไร เรียนรู้การตัดสินใจ เรียนรู้จักคุณค่า สิ่งที่ถูกต้องดีงาม แยกสิ่งที่ถูกจากสิ่งที่ผิด สิ่งที่ควรจากสิ่งไม่ควร  และเรียนรู้จักวิธีแสวงหาความรู้ แสวงหาข้อมูลและทำความเข้าใจกับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างรู้เท่าทัน  จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อ ไม่ถูกเขาหลอก

                พวกเขาเรียนรู้การเป็นผู้นำ  เรียนรู้การวางแผน เรียนรู้การอยู่ร่วมกับคนอื่น ให้โอกาสคนอื่น ให้ความยุติธรรม  ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น

                เรียนรู้การพึ่งตนเอง ด้วยการทำงาน  ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ไปตลาดซื้อของ ซื้ออาหาร  ทำอาหาร ปัดกวาดบ้านถูบ้าน ดายหญ้า รดน้ำต้นไม้ และทำงานบ้านทุกอย่างที่แบ่งกันทำเป็นกลุ่ม เวียนกันไป

                ตีห้ากลุ่มทำอาหารก็ตื่นไปซื้อของที่ตลาด กลับมาทำกับข้าว  กลุ่มอื่นตื่นนอน ทำความสะอาด รดน้ำต้นไม้  กินข้าว ไปโรงเรียน

                กลับจากโรงเรียนประมาณสี่โมงเย็น  ปลูกผัก รดน้ำต้นไม้ ทำกับข้าว กินข้าว  หกโมงเย็นก็ว่าง พักผ่อนบ้าง  ทุ่มหนึ่งรวมกันเล่นดนตรีไทย  ทุ่มครึ่งทำการบ้าน เรียน พี่ ๆ ประกบช่วยเหลือน้อง ๆ แบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม  จากนั้นก็มีการประชุมประจำวัน เพื่อทบทวนว่าวันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง มีอะไรต้องปรับปรุงแก้ไข  อาจจะคุยกันวางแผนกันว่า เสาร์อาทิตย์ที่จะถึงนี้จะทำอะไร  เหล่านี้ พวกเขาทำกันเองทั้งสิ้น  ดิฉันเพียงแต่คอยดูอยู่ห่าง ๆ

เมื่อก่อนนี้เสาร์อาทิตย์มีการทำงานบ้าง พักผ่อนบ้าง  ต่อมาเด็ก ๆ เสนอว่า ขอทำงานวันเสาร์เต็มวัน แล้วขอพักวันอาทิตย์เต็มวันดีกว่า  จะได้มีวันหนึ่งที่เป็นของตัวเองจริง ๆ อยากทำอะไรก็ได้จริง ๆ  ดิฉันไม่ขัด  ให้โอกาสได้ลองดู  พวกเด็ก ๆ ได้พิสูจน์ว่าจัดการกับชีวิตของตนเอง จัดการกับเวลาที่มีอยู่ได้  ไม่มีปัญหาอะไร  เลยยึดถือเป็นแนวปฏิบัติมาจนถึงวันนี้

                วันอาทิตย์อิสระก็จริง แต่ผู้ใหญ่ก็คอยดูแล ไม่ใช่ปล่อยให้เด็กทำอะไรก็ได้ที่อาจออกนอกลู่นอกทาง

                ที่นี่เป็นบ้านของดิฉัน  เป็นบ้านของเด็ก ๆ  เราอยู่ด้วยกันเหมือนครอบครัวเดียวกัน  ดิฉันแต่งงานแล้ว อยู่กับสามีมานานหลายปีไม่มีลูก  แต่ก็มีลูกหลายสิบและหลายร้อยแล้ววันนี้  ทั้ง ๆ ที่บางเดือนก็ไม่มีเงินซื้อข้าวสาร หรือซื้ออาหารให้พวกเขา  นาที่พวกเราและเด็ก ๆ ช่วยกันทำ  (บางครั้งพ่อแม่พี่น้องเด็กก็ลงจากดอยมาช่วย) ๗ ไร่ ก็ได้ข้าวพอเพียงเลี้ยงเด็กได้แค่สองเดือนเท่านั้น นอกนั้นก็ต้องหาเอง

                ปีที่แล้วได้ทุนจากยูนิเซฟสองแสนกว่าบาท  ได้ผัก ปลา ข้าว จากนาสวนของเราเองสมทบก็อยู่รอดมาได้  ความจริง ปีหนึ่งเราต้องการงบประมาณราว ๆ ห้าแสนบาท จึงจะอยู่ได้โดยไม่ขัดสนนัก ซึ่งเราไม่เคยได้ครบ   ได้รับบริจาคจากหลายคนหลายกลุ่ม  จากคุณหมอท่านหนึ่งที่อุทิศเงินเดือนให้ทุกเดือน เมื่อได้รับบริจาคมา ดิฉันก็ให้เด็ก ๆ ทำบัญชีรายรับรายจ่ายกันเอง

                ดิฉันคิดฝันอยากได้กองทุนสักกองทุนหนึ่ง ให้ชุมชนเป็นเจ้าของ  จัดการเอง และให้ช่วยกันดูแลศูนย์นี้  ดิฉันไม่อยากเป็น “เจ้าของ” ศูนย์แห่งนี้ เพียงอยากริเริ่ม และให้ชุมชนทำต่อ ให้เกิดความรู้สึกร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ต่อคนด้อยโอกาส ให้มีระบบการจัดการที่ดี ระบบที่มั่นคง พึ่งตนเองได้และยั่งยืน  ไม่ใช่ระบบการสงเคราะห์ที่ต้องช่วยเหลือแบบให้ไม่รู้จบ

                ดิฉันพร้อมที่จะแบ่งที่ดินผืนนี้ให้ส่วนหนึ่ง เพื่อให้เป็นศูนย์ของส่วนรวม ซึ่งนอกจากจะเป็นศูนย์เด็กด้อยโอกาสแล้ว ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้และการดำเนินงานของเครือข่ายองค์กรชาวบ้าน ซึ่งวันนี้มีอยู่สี่ห้าสิบหมู่บ้านในอำเภอดอกคำใต้และใกล้เคียง

                ความจริง วันนี้พวกเขาก็มาใช้พื้นที่นี้เพื่อทำศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์การจัดการธนาคารหมู่บ้าน  ผลผลิต และเครือข่ายทั้งหมดอยู่แล้ว

                ดิฉันมีอาชีพหลัก คือ เป็นครูในโรงเรียนมัธยม แต่ในเวลาเดียวกันดิฉันก็ทำงานกับชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ กับกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน กลุ่มเยาวชน กลุ่มเด็ก เพราะดิฉันพบว่า เด็กอยู่ในโรงเรียนวันหนึ่งก็เพียง ๗-๘ ชั่วโมง  ที่เหลืออยู่ที่บ้าน  ทำอย่างไรครูจึงจะร่วมมือกับพ่อแม่ ครอบครัวของเด็กในการอบรมเด็ก สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ถ้าครอบครัวยากจน เศรษฐกิจไม่ดี การเลี้ยงดูเด็กก็มีปัญหา  อันนี้ทราบกันดี แต่เราก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของใครก็ไม่รู้ที่จะจัดการ  ดิฉันคิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนในชุมชน ในสังคม เป็นหน้าที่ส่วนรวมที่จะช่วยกันแก้ไขปัญหา ดิฉันจึงไม่ได้จำกัดงานของตัวเองอยู่ที่โรงเรียนเท่านั้น รวมทั้งไม่ได้จำกัดแต่ที่บ้านของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ที่บ้านก็เป็นศูนย์เด็ก ๔๐ กว่าคน

                ดิฉันคิดว่า การปฏิรูปการศึกษาไม่ควรปฏิรูปกันแต่ในโรงเรียน ปฏิรูปการเรียนการสอนในห้องเรียนเท่านั้น แต่ควรต้องปฏิรูปชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เพื่อจะได้เป็นห้องเรียนชีวิตที่ดีให้ลูกหลานของเราด้วย

                ดิฉันเป็นครูมาเกือบ ๒๐ ปีแล้ว  มีลูกศิษย์ลูกหาที่เรียนจบปวช. ปวส.. ปริญญาตรี ปริญญาโท  ออกไปประกอบอาชีพต่าง ๆ  เป็นพยาบาลก็มี อาจารย์พยาบาลก็มี อาจารย์สถาบันราชภัฏก็มี เป็นทหาร ตำรวจ เป็นข้าราชการ พ่อค้า เป็นชาวนาชาวไร่

                ดิฉันภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยให้พวกเขามีความภูมิใจในตัวเอง   เคารพ

ตนเอง เคารพคนอื่น ไม่รู้สึกว่าเป็นปมด้อยที่เกิดมาเป็นสาวดอกคำใต้  เป็นสาวเหนือ เป็นชาวเขา  รู้สำนึกในเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง  รู้ว่าพวกเขาอยู่ในสังคมได้  ถ้าไม่มีที่ยืน พวกเขาก็ต้องดิ้นรนขวนขวายหาที่ยืนให้ตัวเองจนได้

                แม้หลายครั้งดิฉันไม่ได้พูดอะไร  ไม่ได้ทำอะไรมากมายให้ใครเป็นการส่วนตัว  ดิฉันได้รับจดหมาย ได้รับโทรศัพท์จากคนที่ได้เห็นดิฉันในรายการทีวี หรืออ่านจากหนังสือพิมพ์ที่สัมภาษณ์ดิฉัน  พวกเขาขอบคุณที่ดิฉันได้แสดงให้โลกเห็นว่า ผู้หญิงมีศักดิ์ศรี มีความสามารถ มีเกียรติ และขอบคุณที่ดิฉันเป็นแรงบันดาลใจและกำลังใจให้พวกเขาได้สู้ ไม่ยอมแพ้ต่อคำดูถูกเหยียดหยามของใครทั้งสิ้น

                ดิฉันภูมิใจและดีใจที่ได้รับเกียรติ ได้รับการยกย่อง ได้รับการยอมรับวันนี้ ได้รับรางวัลมากมาย และดีใจเป็นที่สุดที่เป็นผู้หญิงไทยคนแรกที่ได้ไปยืนอยู่ที่เวทีหน้าห้องประชุมใหญ่ของสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ค เมื่อไม่กี่เดือนก่อน  เพื่อรับรางวัลจากสหประชาชาติ

                ดิฉันเดินออกไปรับรางวัลไม่ใช่ในนามตัวเอง ดิฉันไปยืนอยู่ที่นั่นและขึ้นไปพูดในนามของผู้หญิงไทย  ผู้หญิงเหนือ  ผู้หญิงดอย  ผู้หญิงดอกคำใต้  คนที่ถูกดูถูก คนด้อยโอกาส คนยากคนจน เพื่อประกาศว่า ทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ทุกคนมีศักยภาพด้วยกันทั้งนั้น

                ขอเพียงโอกาสและการยอมรับเท่านั้น