มุกดา อินต๊ะสาร

 

          มุกดา อินต๊ะสาร เป็นชาวดอกคำใต้ เกิดเมื่อปี พ.. ๒๕๐๒  พ่อแม่ทำอาชีพค้าขาย เธอจึงมีโอกาสได้เรียนสูงๆ  เธออยากเรียนพยาบาลเพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้อื่น แต่สอบเข้าไม่ได้ เธอได้เรียนสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาที่วิทยาลัยพายัพ ที่เชียงใหม่

            ตั้งแต่เริ่มเป็นสาว เธอได้รับรู้ด้วยความเจ็บปวดว่า ดอกคำใต้มีชื่อเสียงที่ไม่น่าภูมิใจเลย บอกใครว่าเป็นคนดอกคำใต้ เขาก็มองอย่างดูถูกเหยียดหยาม หาว่าเป็นหญิงบริการไปหมด เธอจึงตั้งใจไว้ว่า เธอจะสร้างภาพที่ดีให้แก่อำเภอบ้านเกิดของเธอให้ได้ จะกู้ศักดิ์ศรีของคนดอกคำใต้ให้กลับคืนมา

            เมื่อเรียนจบเธอสมัครเป็นครู และได้ไปสอนที่โรงเรียนภูซางวิทยาคม อำเภอเชียงคำ ที่นี่เองที่เธอเริ่มเรียนรู้การทำงานกับชุมชน เพราะผู้บริหารเป็นคนสนใจงานพัฒนาชุมชน ทำให้เธอได้ออกไปทำงานกับชาวบ้าน ต่อมาไม่นานก็ได้รับการย้ายกลับไปโรงเรียนใกล้บ้านเกิด คือ โรงเรียนถ้ำปินวิทยาคม ที่อำเภอดอกคำใต้ และทำงานด้านสังคมต่อไป

            ครูมุกดา เป็นครูแนะแนวด้วยในเวลาเดียว เธอจึงได้รับรู้ปัญหาของเด็กๆ ปัญหาครอบครัวของเด็ก โดยเฉพาะเด็กชาวเขา  เธอได้รับรู้ถึงความยากลกบากในการทำมาหากิน การปรับตัว การอยู่ร่วมกับคนพื้นราบอื่นๆ  การสูญเสียเอกลักษณ์ และความพยายามแสวงหาเอกลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับตนเอง  กลายเป็นปัญหาปมด้อย และปัญหาสังคมสำหรับหลายคน

            ครูมุกดาเชื่อว่า การศึกษาจะช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้ค้นพบตัวเองได้ แต่พวกเขามักจะไม่มีทุน โรงเรียนก็อยู่หางไกล โดยเฉพาะถ้าอยากเรียนต่อชั้นมัธยม แทบจะไม่มีทางเอาเสียเลย เพราะต้องเดินทางไปกลับไกลมาก ถ้าไม่ไปกลับก็ต้องเอาไปฝากที่ไหนสักแห่งใกล้โรงเรียน  และนั่นคือที่มาของดครงการที่เธอให้ที่พักพิงเด็กชาวเขาจำนวนหนึ่งที่บ้านของตนเอง จากไม่กี่คนจนถึง ๔๐ คนวันนี้

            นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นงานในโรงเรียน และงานที่เกี่ยวกับเด็กที่ต้องไปโรงเรียน  แต่การเรียนรู้ของคนนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในโรงเรียนเสมอไป  เด็กๆ ทั้ง ๔๐ คนเรียนรู้ที่บ้านของเธอ ซึ่งมีที่ดินอยู่ประมาณ ๒๐ ไร่ เด็กๆ ช่วยกันทำงานในแปลงเกษตรผสมผสาน เลี้ยงปลา  ทำนา ปลูกพืชปลูกผัก และไม้ผลต่างๆ เช่น กล้วย อ้อย  เป็นต้น  ทำงานเหมือนที่บ้านของตนเอง ได้เรียนรู้จากการทำงาน และได้พึ่งพาอาศัยผลผลิตจากการทำงานของตนเอง

            ถ้าหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้มาอยู่ที่นี่ ไม่ได้มาเรียนที่นี่ พวกเขาเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะถูกสิ่งแวดล้อมชักนำไปในทิศทางอื่น ไม่ว่าจะไปขายบริการ หรือเกี่ยวข้องกับการเสพและการค้ายาเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องที่ระบาดอย่างหนักในปัจจุบัน  การมาอยู่ที่ศูนย์แห่งนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวพวกเขาเอง เพราะที่นี่ไม่ได้เรียนรู้แต่หนังสือ แต่เรียนรู้ "ทักษะชีวิต" การคิดและตัดสินใจในการดำเนินชีวิต  เกิดความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น และรู้ว่าตนเองต้องการอะไรและควรทำเช่นไร  อันนี้ต่างหากที่เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กๆ เหล่านี้เห็นคุณค่าของการได้มาอยู่ร่วมกันที่ศูนย์แห่งนี้

            นอกจากนี้ ครูมุกดาทำงานกับชาวบ้าน กับชุมชน  เป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มต่างๆ ไม่เพียงแต่ที่บ้านถ้ำ แต่ในตำบลปินและอีกหลายตำบล เป็นเครือข่ายของธนาคารหมู่บ้าน และกลุ่มองค์กรชาวบ้าน เช่น กลุ่มออมข้าว กลุ่มตัดเย็บ กลุ่มกระดาษสา กลุ่มหน่อไม้อัดปิ๊บ กลุ่มดอกไม้ประดิษฐ์  เป็นต้น

            การรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายขององค์กรชาวบ้านเป็นงานสำคัญ เพราะชาวบ้านกำลังเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตนเองโดยการประสานความร่วมมือ ประสานทรัพยากร ประสานเรื่องการจัดการต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ และไม่มีใครมีประสบการณ์ด้านนี้ เพราะในอดีตไม่เคยเป็นเช่นนี้  บทบาทของครูมุกดาจึงเป็นบทบาทของผู้ประสานงานให้เกิดการเรียนรู้ในหมู่ชาวบ้านสมาชิกเครือข่าย

            นับเป็นงานสำคัญและบทบาทสำคัญของคนที่เป็นลูกชาวบ้าน ได้ไปเรียนจากสถาบันอุดมศึกษา กลับมาบ้านเกิด มาสอนในโรงเรียน เป็นข้าราชการครู แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำงานเป็นผู้ประสานองค์กรชุมชนอีกเกือบร้อยเข้าด้วยกัน ให้เกิดการเรียนรู้ ให้เกิดการจัดการ และที่สำคัญ ให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง โดยเฉพาะสตรีชาวดอกคำใต้และเยาวชน โดยเฉพาะเด็กหญิง ที่เห็นว่า ตนเองมีเกียรติและศักดิ์ศรีที่มาจากการพบทางเลือกดำเนินชีวิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่จำเป็นต้องเลือกที่จะไปทำงานเป็นหญิงบริการอย่างที่บางคนในหมู่บ้านในอำเภอนี้เคยทำมาก่อน